TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการดิจิทัลและโครงสร้าง

UNCITRAL Model Law on Electronic Commerce (1996) with additional article 5 bis as adopted in 1998 Documents


วัตถุประสงค์ (Purpose)

กฎหมายต้นแบบ MLEC มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้การทำธุรกรรมทางการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจัดทำกรอบกฎหมายที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เพื่อขจัดอุปสรรคทางกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายที่กำหนดให้ต้องใช้เอกสารกระดาษเท่านั้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เสนอให้ข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการยอมรับทางกฎหมายในระดับเดียวกับเอกสารกระดาษ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการส่งเสริมการสื่อสารแบบไร้กระดาษและช่วยให้การค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็ว
 

ความสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Why is it relevant?)

กฎหมายต้นแบบว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (MLEC) ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่นำหลักการพื้นฐาน 3 ประการมาใช้ ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ได้แก่
 
  1. หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination)  ซึ่งรับรองว่าเอกสารจะไม่ถูกปฏิเสธผลทางกฎหมายเพียงเพราะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

  2. หลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technological Neutrality) ที่ไม่กำหนดให้กฎหมายผูกพันกับเทคโนโลยีเฉพาะใดเทคโนโลยีหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้ปรับใช้กับนวัตกรรมใหม่ในอนาคตได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย

  3. หลักความเทียบเท่าทางหน้าที่ (Functional Equivalence) ซึ่งกำหนดเกณฑ์ให้สามารถพิจารณาว่าการใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลเช่นเดียวกับการใช้เอกสารกระดาษได้  เช่น ในกรณีที่ต้องการให้ข้อมูลนั้นถือเป็น “ลายลักษณ์อักษร” “ต้นฉบับ” “ลงลายมือชื่อ” หรือ “บันทึก”
     

หลักการเหล่านี้ช่วยให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกรรมสามารถเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเปิดทางสู่ระบบการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่นและทันสมัย


สาระสำคัญของกฎหมายต้นแบบ (Key Provisions)


นอกจากการวางหลักการพื้นฐานทางกฎหมาย เช่น หลักการไม่เลือกปฏิบัติิ หลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี และหลักความเทียบเท่าทางหน้าที่ กฎหมายต้นแบบ MLEC ยังได้กำหนดบทบัญญัติที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการของสัญญาที่ทำขึ้นผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การระบุผู้ส่งข้อความข้อมูล การยืนยันการได้รับข้อความ การกำหนดเวลาและสถานที่ของการส่งและการรับข้อความข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ บทบัญญัติบางส่วนของ MLEC ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยอนุสัญญาว่าด้วยการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Communications Convention) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติล่าสุดในการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ในส่วนที่สองของ MLEC ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในบริบทของการขนส่งสินค้า ยังได้รับการเสริมด้วยกฎหมายระหว่างประเทศฉบับอื่น ๆ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาการขนส่งสินค้าทางทะเลทั้งหมดหรือบางส่วน (Rotterdam Rules) และอาจเป็นประเด็นที่ UNCITRAL จะพัฒนาต่อยอดในอนาคต

ที่มา: https://uncitral.un.org/en/texts/ecommerce/modellaw/electronic_commerce